เมื่อเร็วๆนี้ทาง IMC Institute เปิดแถลงข่าวเรื่องผลสำรวจ “Emerging Technology: Thai Professional Readiness Survey” และก็มีสื่อหลายๆฉบับนำไปลงข่าวให้ รวมถึงบทบรรณาธิการของกรุงเทพธุรกิจที่เขียนในหัวข้อ “แรงงานฝีมือไอทีขาด ดับฝันผู้นำอาเซียน” ในฉบับวันที่ 19 กันยายน  (เนื้อหาของบทความสามารถอ่านได้ที่ http://tinyurl.com/mzq7xgv )และเพื่อให้เข้าใจรายละเอียดของการสำรวจครั้งนี้ผมจึงขอนำรายงานการสำรวจมาสรุปสั้นๆดังนี้

Screen Shot 2556-10-06 at 9.23.03 PM

การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงสภาวการณ์โดยรวมของประเทศในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรและวงการไอทีของไทยต่อไปในอนาคตโดยเน้นในกลุ่มของบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology โดยเฉพาะเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ทั้งในเชิงความร่วมมือและการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี พ.ศ.2558

การสำรวจข้อมูลดังกล่าวได้ถูกดำเนินการขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ.2556 โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ และวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ ากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 165 ราย ทางทีมผู้วิจัยได้คัดเลือกตัวอย่างที่สมบูรณ์และมีความสามารถในการสะท้อนภาพรวมที่แท้จริงของวงการบุคลากรไอทีไทยออกมาได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 89 ราย แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มบริษัท/หน่วยงานที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีเป็นหลัก จำนวน 51 ราย ซึ่งโดยมากจะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน แต่ก็มีบางบริษัทที่มัพนักงานซอฟต์แวร์อยู่ระหว่าง 101-500 คน ส่วนกลุ่มที่สองที่ทำการสำรวจคือบริษัท/หน่วยงานที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีแผนกไอทีภายในองค์กร อาทิ กลุ่มการเงินการธนาคาร, กลุ่มโทรคมนาคม, กลุ่มพลังงาน เป็นต้น จำนวน 38 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้โดยมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทและโดยเฉลี่ยจะมีพนักงานไอทีอยู่ประมาณช่วง 11-100 คน โดยสามารถที่จะสรุปจำนวนพนักงานในกลุ่มบริษัทและหน่วยงานได้ดังรูป

Image

รูปที่   1) จำนวนของพนักงานไอทีและพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ภายในองค์กร ของบริษัท/หน่วยงานในอุตสาหกรรมไอที

Image

รูปที่ 2) จำนวนของพนักงานไอทีและพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ภายในองค์กร ของบริษัท/หน่วยงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ

ผลการสำรวจความพร้อมด้าน Emerging Technology

การสำรวจครั้งนี้ได้ศึกษาความพร้อมของบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ของหน่วยงานต่างๆในประเด็นต่างที่น่าสนใจ อันได้แก่ ทักษะของบุคลากรในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม, ด้านการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerginf Technology อื่นๆ รวมถึง ศึกษาทัศนคติที่มีต่อระดับความสำคัญของเทคโนโลยีต่างๆ, ปัญหาและอุปสรรค, ทัศนคติที่มีต่อแหล่งการจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิด และข้อเสนอแนะอื่นๆ

ทักษะในด้านภาษาคอมพิวเตอร์

ผลการสำรวจในหัวข้อด้านทักษะของบุคลากรไอทีไทยที่เกี่ยวข้องกับภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม (Computer Programming Language) เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วพบว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆมีบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยหลักสามภาษาคือ PHP, Java และ .NET โดยทั้งสามภาษาทั้งสามมีองค์กรที่มีบุคลากรในการพัฒนาจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้แก่ PHP (65.17%), Java (62.92%) และ .NET (61.80%) อีกทั้ง และยังมีแนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย แต่เมื่อพิจารณาจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละองค์กรจะพบว่าองค์กรโดยมากจะมีบุคลากรที่สามารถพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ที่ระบุน้อยกว่า 10 คน และมีเพียงไม่กี่องค์กรที่ระบุว่ามีนักพัฒนามากกว่า 20 คนกล่าวคือ มีเพียง 5 องค์กรที่ระบุว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน PHP มากกว่า 20 คน และมีองค์การที่ระบุว่ามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Java และ .NET มากกว่า 20 คนอย่างละ 10 องค์กร นอกจากนี้ยังพบว่าเริ่มมีหลายองค์กรที่ให้ความสนใจกับภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ อย่าง Python และ Ruby มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาษาคอมพิวเตอร์อื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการขององค์กรอาทิ C++, COBOL, Delphi เป็นต้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในการขยายบุคลากรในกลุ่มภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆอย่างชัดเจนนัก

Image

รูปที่ 3) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรพัฒนาโปรแกรมสำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน

Image

รูปที่ 4)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาโปรแกรมสำหรับภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนา Mobile Application

สำหรับทักษะของบุคลากรไอทีไทยในหัวข้อการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application Development) นั้นพบว่า ในปัจจุบันองค์กรไอทีของไทยให้ความสนใจกับการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นโดยใช้ Native Application บนระบบปฎิบัติการ iOS และ Android ในจำนวนที่เท่าเทียมกัน คือ 51.69% ตามมาด้วย Windows (24.72%) นอกจากนี้ยังพบว่าหลายๆองค์กรเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นแบบ Cross Platform โดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ HTML5 ในจำนวนถึง 50.56% อีกทั้งองค์กรส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มวางแผนเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างชัดเจนมากกว่าการเพิ่มบุคลากรการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Emerging Technology อื่นๆ โดยมีความสนใจที่จะเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้าน iOS มากที่สุด

สำหรับในแง่ของจำนวนบุคลากรผลการสำรวจจะออกมาในทำนองเดียวกับจำนวนบุคลากรทางด้านภาษาคอมพิวเตอร์ กล่าวคือองค์กรส่วนใหญ่จะมีบุคลากรในการพัฒนาด้านโมบายแอพพลิเคชั่นน้อยกว่า 10 คนในปัจจุบัน และมีเพียงอย่างละ1 องค์กรที่มีบุคลากรมากกว่า 20 คนในการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ด้าน iOS, Android และ HTML5

mobile

รูปที่ 5) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรพัฒนาด้าน Mobile Application จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน

mobiletrends

รูปที่ 6)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนา Mobile Application จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเทคโนโลยี Cloud Computing

ในปัจจุบันเทคโนโลยี Cloud Computing ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางนักในกลุ่มบริษัท / หน่วยงานต่างๆในไทย แต่เมื่อมีการสำรวจแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Platform ก็ยังจัดว่ามีสัดส่วนที่ค้อนข้างน้อย โดยแพลตฟอร์มที่องค์กรต่างๆมีบุคลากรที่มีทักษะในการพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine แต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 22.47% ตามมาด้วย Microsoft Azure จำนวน 19.10%  Amazon Web Services (13.48%) และ Heroku (5.62%)  โดยยังพบว่าองค์กรต่างๆจะมีบุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Computing น้อยกว่า 10 คน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในการขยายบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเทคโนโลยี Cloud Computing อย่างชัดเจนนัก โดยพบว่าองค์กรต่างๆมีความต้องการที่จะเพิ่มบุคลากรด้านนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับความด้องการเพิ่มบุคลากรในการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้าน Emerging Technology อื่นๆ

cloud

รูปที่ 7) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรซอฟต์แวร์ในการพัฒนา Cloud Technology จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

cloudtrends

รูปที่ 8)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Technology จำแนกตามแพลตฟอร์มต่างๆ

ทักษะในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology  อื่นๆ

นอกจากนี้ทาง IMC Institute ยังทำการสำรวจทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology อื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของบริษัท / หน่วยงานไทย  โดยผลการสำรวจพบว่าองค์กรจะมีบุคลากรที่พัฒนาทางด้าน Business Intelligence (BI) มากที่สุด โดยในปัจจุบันมีองค์กรที่มีบุคลากรทางด้านนี้อยู่ถึง 58.42% ตามมาด้วย Facebook Application Development (33.71%), noSQL (21.35%) และ Big Data (17.98%) ทั้งนี้องค์กรต่างๆยังมีความต้องการเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะด้าน Emerging Technology เหล่านี้ในอนาคตอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดแผนงานในหัวข้อนี้อย่างชัดเจนนัก

other

รูปที่ 9) ร้อยละขององค์กรที่มีบุคลากรซอฟต์แวร์ในการพัฒนา Emerging Technology อื่นๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

Othertrends

รูปที่ 10)  แนวโน้มการวางแผนงานขององค์กรสำหรับบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Emerging Technology  อื่นๆ

ทัศนคติที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology ขององค์กรต่างๆ

IMC Institute ยังได้สำรวจทางด้านการให้ความสำคัญของ Emerging Technology ของหน่วยงาน/บริษัทต่างๆ จากผลการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยของทัศนคติที่กลุ่มตัวอย่างโดยรวมที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology ต่างๆ ด้วยการวัดค่าจากมาตรวัดคะแนน 5 ระดับ (5-Point Rating Scale) นั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นความสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์เทคโนโลยีด้าน Mobile Application (3.80 คะแนน) สูงที่สุด ตามมาด้วย Business Intelligence / Big Data (3.58 คะแนน) Cloud Computing (3.57 คะแนน) และ Social Media  (2.97 คะแนน) ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมไอที และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่าแผนกไอทีในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆจะให้ความสำคัญในเทคโนโลยีด้าน Business Intelligence / Big Data และ Social Media มากกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที

emerging

รูปที่ 11)  ทัศนคติที่มีต่อความสำคัญของ Emerging Technology จากคะแนนเต็ม  5.00

ทั้งนี้เหตุผลหลักที่กลุ่มตัวอย่างต้องการพัฒนา Emerging Technology ต่างๆ ภายในองค์กรนั้น พบว่ามีสาเหตุเนื่องจากต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และต้องการก้าวให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยมีผู้ตอบเป็นจำนวนเท่ากันคือ 78.65% ตามมาด้วยความต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (60.67%) และมีความพร้อมของบุคลากรอยู่แล้ว (28.09%) นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้เหตุผลอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ต้องการลดต้นทุนการบริหารงาน, ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ, ดำเนินการตามข้อกำหนดของลูกค้า เป็นต้น

reason

รูปที่ 12)  เหตุผลที่องค์กรต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology

ปัญหาสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นเอาไว้เป็นจำนวนมากที่สุดอย่างโดดเด่นคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเกี่ยวกับ Emergin Technology ซึ่งมีจำนวนผู้ตอบถึง 76.40% ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนแหล่งความรู้ / การฝึกอบรม (49.44%) ขาดงบประมาณ (42.70%), เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน (31.46%) ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ (25.84%) ยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด (16.85%) ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างยังได้มีการระบุถึงปัญหาอื่นๆ อีกบ้าง อาทิ ผู้บริหารไม่เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงไม่ได้รับการสนับสนุน หรือลูกค้าไม่ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี เป็นต้น

problem

รูปที่ 13)  ปัญหาที่องค์กรพบในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Emerging Technology

ในด้านการจัดหาหรือพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology นั้น จากผลการสำรวจด้วยวิธีการวัดค่าจากมาตรวัดคะแนน 5 ระดับ (5-Point Rating Scale) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการพัฒนาบุคลากรไอทีที่มีอยู่เดิมในองค์กรให้มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้นนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุด (3.31 คะแนน) ตามมาด้วยการจัดหาบุคลากรใหม่ด้วยตนเอง (3.22 คะแนน), การรับสมัครบุคลากรผ่านทางมหาวิทยาลัย (2.72 คะแนน) และการใช้บริการตัวแทนจัดหาบุคลากร (2.07 คะแนน) ตามลำดับ

resource

รูปที่ 14)  ทัศนคติที่มีต่อแหล่งการจัดหาและพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology จากคะแนนเต็ม  5.00

ในการสำรวจครั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้าน Emerging Technology ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเสนอแนะไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Emerging Technology ของบุคลากรไทยยังมีความคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่มาก ดังนั้น จึงควรจะมีการปูพื้นฐานอย่างจริงจังตั้งแต่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และภาครัฐควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความสนับสนุนผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดมาตรฐาน หรือการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการค้นคว้าวิจัย เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังควรจะมีการจัดตั้งกลุ่มหรือชุมชนเพื่อเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรไอทีของไทยในด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิดโดยตรงอีกด้วย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s