ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่บางท่านและเพื่อนในวงการไอทีถามถึงแนวคิดของผมในเรื่องของการปฎิรูปประเทศไทยว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรโดยเฉพาะเรืองของไอที และยิ่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้รัฐบาลโดยการแถลงของนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯมรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาจุดกระแสเรื่องของ Digital Economy ก็ทำให้กระแสการปฎิรูปด้านไอซีทีที่จะมีผลต่อการผลักดันการปฎิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความร้อนแรงยิ่งขึ้น

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าแผนงาน  Digtal Economy จะมีอะไรบ้าง แต่ภาพที่เริ่มเห็นคือการปรับโครงสร้างกระทวงไอซีทีและเปลี่ยนชื่อให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล และก็มีภาพกราฟฟิกของนสพ. Post Today ที่ลงตีิพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาระบุโครงการต่างๆดังรูป

DigitalEconomy

รูปที่ 1 ยุทธศาสตร์ Digital Economy [ภาพจากหนังสือพิมพ์ Post Today]

ยุทธศาสตร์  Digital Economy เป็นเรื่องทีดีมาก และถ้ารัฐบาลผลักดัันอย่างจริงจัง ไม่ใช่สร้างมาเป็น Propaganda เหมือนรัฐบาลยุคเลือกตั้งที่ผ่านๆมาซึ่งจะสรรหาคำสวยงามมาประกอบนโยบายเช่น Naional Broadband หรือ  Smart Thailand  แต่ก็ไม่ได้ดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณอย่างจริงจัง ยังจำได้ว่าเมื่อมีการปฎิรูประบบราชการครั้งใหญ่รัฐบาลทักษิณได้จัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่เมื่อมีการโยกย้ายหน่วยงานต่างๆและเห็นภาระกิจที่แท้จริงแล้ว การจัดตั้งกระทรวงไอซีทีในตอนนั้นก็เป็นแค่การทำภาระกิจชั่วคราวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ความไม่จริงจังในตอนนั้นจึงทำให้กระทรวงไอซีทีในวันนี้ไม่สามารถดำเนินงานต่างๆได้อย่างที่ควรจะเป็นทั้งนี้เพราะขาดบุคลากร อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างที่เหมาะสม

ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีเพราะเรากำลังพูดถึงการปฎิรูปประเทศ และรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผมจำได้ว่าตั้งแต่เด็กมาจนปัจจุบัน เคยเห็นโครงการใหญ่ๆเพียงโครงการเดียวที่ผลักดันจนประสบความสำเร็จคือโครงการ  Eastern Seaboard  ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ายุคนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเกรงใจนักการเมืองมากนัก และอีกอย่างผู้นำสมัยนั้นมีความเด็ดขาด

สถานการณ์ในวันนี้คล้ายๆกับยุคนั้นแม้รัฐบาลจะตั้งเป้าที่จะปฎิรูปประเทศในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี แต่การปฎิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจเชิงดิิจิทัลอาจต้องทำหลายประการดังนี้ ซึ่งบางเรื่องก็น่าจะอยู่ในแผนของทีมงานแล้ว แต่ผมขอนำเสนอความคิดดังนี้

1) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัล

การปฎิรูปอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการสร้างถนนและทางคมนาคมครั้งใหญ่ของประเทศเขาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมื่อพูดถึง  Digital Economy เรากำลังขนส่งข้อมูลจำนวนมากโดยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เราจึงจำเป็นต้องมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีเชื่อมต่อกันทุกพื้นที่ High Speed Broadband ก็เปรียบเสมือนถนน Highway ที่จำเป็นต้องเข้าถึง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ถ้าเราไม่มีถนนแล้วอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆที่เปรียบเสมือนยานพาหนะจะเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วได้อย่างไร อีกเรื่องที่สำคัญคือการขยายการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ 4G ที่ควรจะต้องเร่งให้สัมปทานและอาจต้องรีบเตรียมการให้รองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่อย่าง  5G ด้วยความรวดเร็ว ไม่ใช่รอให้ล้าหลังประเทศอื่นๆอย่างการให้สัมปทาน  3G หรือ  4G เหมือนที่ผ่านมา

การตั้งหน่วยงาน  Broadband  แห่งชาติ อาจจะยังไม่สำคัญเท่ากับการวาง  Blueprint ด้านเครือข่าย  Broadband รวมถึงการผลักดันให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมของภาคเอกชนในการให้บริการ  Highspeed Broadband กับภาคประชาชนอย่างทั่วถึง การให้บริการของภาครัฐเพื่อเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึง Highspeed Broadband  ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างเชิงดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อนของการสร้างเครือข่ายของหน่วยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เราได้เครื่อข่ายที่มีคุณภาพและประหยัดการลงทุน

2)  การสร้าง  Digital Mindset  ให้กับสังคม

ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งการเล่น Facebook, Smartphone  และ Tablet แต่สิ่งที่พบคือส่วนมากใช้เพื่อความบันเทิง ไม่ได้ถูกนำใช้ในด้านการทำงานมากนัก การทำธุรกิจโดยมากยังอยู่บนพื้นฐานแบบเดิม ยังขาดความตระหนักการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เรายังพบว่าธุรกิจด้านต่างๆจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันบนโลกออกไลน์ได้ คนไทยจำนวนมากยังไม่กล้าที่จะทำธุรกรรมออนไลน์ ยังขาดความสามารถในการติดต่อสื่อสารเชิงดิจิทัล ทักษะการค้นคว้าและกลั่นกรองข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตยังไม่ดีพอ ทำให้เราจะแข่งขันเชิงธุรกิจไร้พรมแดนผ่านโลกดิจิทัลลำบาก

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับภาคส่วนต่างๆทั้งภาคธุรกิจ ราชการ  รวมทังอุตสาหกรรมต่างๆทั้ง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ Digital Economy เมืื่อผู้คนในสังคมมีความตระหนักด้านดิจิทัลเราก็จะเห็นการใช้ข้อมูลออนไลน์ต่างๆมากขึ้น สังคมและธรกิจก็จะเข้าสู่การเป็น Digital Economy มากขึ้น และเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่ Real-Time Economy ซึ่งเป็นคำที่ทันสมัยกว่าและสอดคล้องกับปัจจุบันมากกว่าคำว่า  Digital Economy

3) การพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านไอซีที

การพัฒนา Digital Economy ที่ดีจะต้องมีพื้นฐานของงานวิจัยและพัฒนาทางด้านไอซีืีที ที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยทางด้านนี้น้อยมาก เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศทั้งทางด้าน Hardware, Communication  และ  Software อยู่มาก ตัวอย่างเช่นเราขาดบุคลากรทางการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ การผลิตบุคลากรก็ไม่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เราคงไม่ต้องไปคาดหวังว่าอุตสาหกรรมทางด้านนี้เราจะไปแข่งในระดับโลก เพราะยังไงเสียก็ตามเราคงแข่งขันในระยะสั้น 5-10 ปีลำบากเพราะเราขาดบุคลากร แต่สิ่งที่เราต้องทำในระยะสั้นคิอต้องพัฒนาให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตภายในประเทศได้บ้างรวมถึงอาจต้องทำให้การนำเข้านักพัฒนาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้น พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกที่จะเข้ามาทำงาน และระยะยาวก็คงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ โดยเฉพาะเน้นการปฎิรูปการศึกษาให้เยาวชนไทยมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

4) การปฎิรูปกฎหมายด้านดิจิทัล

กฎระเบียบหลายๆอย่างของบ้านเรายังไม่เอื้อต่อการเป็น Digtial Economy การติดต่อราชการหลายๆเรื่องเราต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบ้านเราเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ใช้บัตรประชาชนที่เป็น smartcard แต่การทำธุรกรรมในหน่วยงานต่างๆยังต้องมีการทำสำเนาบัตรประชาชน ในแง่การจัดซื้อจัดจ้างหรือการทำนิติกรรมต่างๆยังมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างล้าหลังอ้างอิงกับรูปแบบเดิมๆที่ต้องใช้หลักฐานจำนวนมากในรูปแบบที่เป็นกระดาษและสำเนาซึ่งไม่เอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านดิจิทัลจำนวนมากยังไม่ผ่านสภาฯไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านลายเซ็นดิจิทัล กฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย กฎหมายคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันเรามีกฎหมายเหล่านี้หลายร้อยฉบับที่จะต้องทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ถ้าเราต้องการเข้าสู่  Real Time Economy อย่างเต็มรูปแบบเราอาจต้องแก้แม้กระทั่งกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมให้ลูกจ้าง สามารถทำงานแบบออนไลน์ หรือทำงานที่บ้านได้ โดยได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง

5) การผลักดันให้เกิดกฎหมาย Open Data

อีกประเด็นที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดเรื่อง Open Data ทีเป็นการเปิดข้อมูล (และ Information) ของรัฐบาล องค์กรสาธารณะต่างๆ และหน่วยงานเอกชนที่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาขน ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Format) ไม่ใช่มาตรฐานเฉพาะ (Proprietary format) เพื่อคนหรือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านได้ แล้วนำไปใช้หรือต่อยอดในการพัฒนาข้อมูลอื่นๆต่อไปได้ การเปิดข้อมูลจะเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนและยังช่วยทำให้เกิดการนำไปใช้ในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อไป

การมี Open Data โดยเฉพาะในภาครัฐบาลนอกเหนือจากการสร้างความโปร่งใสและทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อมูลของภาครัฐในด้านต่างๆเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆอีกเช่นการช่วยทำให้บริการของรัฐดีขึ้นอาทิเช่น การเปิดเผยข้อมูลจราจรทำให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีขึ้นรวมถึงทำเกิดธุรกิจต่างๆขึ้นมากมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นเรื่องสำคัญในการปฎิรูปประเทศให้สู่เศรษฐกิจเชิงดิจิทัลก็คือ การผลักดันกฎหมาย  Open Data โดยการอิงหลัก 8 ประการตามที่ผมเคยเสนอไว้ในบทความ Open Government Data กับการปฎิรูปประเทศไทย

6)  การปฎิรูปหน่วยงานภาครัฐด้านไอซีที

หน่วยงานทางด้านไอซีทีของภาครัฐยังขาดความพร้อมทั้งในแง่ของบุคลากรและอำนาจหน้าที่ที่จะมากำกับหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ยังขาดความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ และบางหน่วยงานก็มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน เรามีทั้งองค์กรอิสระที่เป็นผู้ดูแลกำกับโครงสร้างด้านอินเตอร์เน็ตและโทรคมนาคมอย่าง กสทช แต่ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีก็มีบางภารกิจบางอย่างที่ใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนกัน เรามีหน่วยงานในกำกับที่เป็นองค์กรมหาชนภายใต้กระทรวงไอซีทีหลายหน่วยงานอย่าง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) แต่บางครั้งหน่วยงานเหล่านี้เช่น  EGA กลับไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่เข้าไปกำกับดูแล e-Service ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ทำให้การบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐยังขาดทิศทางที่สอดคล้องกัน หรือบางหน่วยงานอย่าง  SIPA ก็มีปัญหาภายในที่ไม่รู้จบทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถคาดหวังอะไรได้

หน่วยงานด้านไอซีทีก็ย้งอยู่ข้ามกระทรวงต่างๆเช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีหน่วยงานอย่าง NECTEC ที่น่าจะมีการบูรณาการบางภารกิจมาอยู่ใต้กระทรวงใหม่ หรือแม้แต่หน่วยงานอย่าง Software  Park ซึ่งไม่มีงบประมาณจัดสรรมาดำเนินงานใดๆโดยตรงก็ควรจะมีการทบทวนบทบาทบทบาทและหน้าที่ว่าควรจะจัดสรรงบประมาณให้โดยตรงหรือไม่ หรือควรจะอยู่ในสังกัดใด  ยังไม่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่จะมีผลต่อการปฎิรูปเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สสว. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่อาจจะต้องมีการจัดภารกิจใหม่ให้สอดคล้องกัน หรืออาจต้องมีการตั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงที่จะเกิดมาใหม่

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคือแนวคิดบางประเด็นของผมต่อการปฎิรูปประเทศ และเป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ภายในหนึ่งปี โอกาสนี้เป็นโอกาสดีของประเทศที่จะทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการดำรงไว้ซึ่งหลักการและแนวคิดของ Digital Economy ถ้ารัฐบาลตั้งเป้่าไว้ว่าจะอยู่เพียงหนึ่งปีคงจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นหลังปฎิรูปเสร็จรัฐบาลควรที่จะรักษาอำนาจและทำงานต่ออีกซักพัก เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายมิฉะนั้นแล้วการปฎิรูปจะสูญเปล่า เราอาจเห็นแค่การตั้งกระทรวง  Digital Economy  ขึ้นมาแค่นามธรรมแต่สุดท้ายการปฎิบัติก็จะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์

สุดท้ายคำว่า Digital Economy  หรือคำว่า Real-time Economy มันก็คือ  New Economy เรากำลังปฎิรูปเศรษฐกิจใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมมากที่สุดในการปฎิรูปครั้งนี้  เราอย่าลืมนะครับว่าประเทศ สิงคโปร์ที่ปฎิรูปประเทศมาได้ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีลีกวนยูมีอายุไม่ถึง 40  ปี ตอนเราปฎิวัติ 2475  ผู้นำในคณะราษฎร์ส่วนใหญ่คือคนอายุต่ำกว่า  40 ปี ถ้าเราจะปฎิรูป  Digtial Economy  แล้วเราจะเอาแต่คนรุ่นเก่ามาปฎิรูปแล้วพยายามจะมาบอกว่าอนาคตของเศรษฐกิจหรือวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่จะเป็นไปได้อย่างไร ยิ่งคนคิดปฎิรูปหลายๆคนอาจมีความเข้าใจเรื่องดิจิทัลน้อยกว่าคนรุ่นใหม่บางทีก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก อย่าว่าแต่คนอายุมากกว่า 60  ปีเลยครับแม้แต่คนรุ่นอย่างผมบางทีก็อาจอายุมากเกินไปแล้วในการจะมาคิดเรื่องปฎิรูปให้พวกเขาตามลำพัง เราควรต้องมีสัดส่วนของเด็กรุ่นใหม่ๆจำนวนมากในการปฎิรูปสังคมสู่    Digital Economy มันเป็นเรื่องของ New Generation  สู่  New Economy ไม่ใช่แค่กลุ่มของผู้ใหญ่มาคุยกันแล้วจะบอกอนาคตให้คนรุ่นใหม่ที่เขาต้องอยู่กับอนาคตของเขาอีกหลายสิบปี ครับให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของเขาด้วยครับ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

1 thoughts on “Digital Economy กับการปฎิรูปประเทศไทย

  1. อาจารย์ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่อยากขอคำแนะนำอีกว่า ทำอย่างไรจึงจะให้สิ่งที่พูดเกิดเร็วได้ เพราะผมเห็นว่า ความล้มเหลวของรัฐบาล มาจากความล่าช้าของราชการ ที่เป็นรากของปัญหาทั้งหมด แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง  แต่ไปซัดถึงเหตุผลอื่นๆที่ได้ยินกันทุกวััน การเข้ามาของ คสช จึงตรงเป้า ความอืดของราชการ มาจากสองประการ คือ ความไม่เอาไหนของผู้บริหาร ผู้บริหารที่ไม่ทำหน้าที่ให้ลุล่วง คือผู้ที่เอาแต่ตัวรอด อะไรที่ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ ก็หากฏระเบียบมาอธิบาย  คนเหล่านี้ รัฐบาลกำลังจัดการอยู่ แต่ทุกคนต้องกลับไปทบทวนเรื่อง Sense of Urgency ไปหาหนังสืออ่านก็ได้ หากนึกไม่ออก John Paul Kotter เขียนไว้ก็ดี
    เรื่องที่สอง คือ ความไม่ทันกับเทคโนโลยี คือ ความไม่เข้าใจ และไม่ให้ความสำคัญกับไอทีในโลกดิจิทัล ทุกอย่างต้องรวดเร็วหมด ใครช้าเสียเปรียบทันที ทุกครั้งที่เทคโนไอทีใหม่เกิดขึ้น ปัญหาใหม่จะตามมาเสมอ วิธีแก้ไขแบบเดิม ใช้ไม่ได้อีกแล้ว เอกชนไปกับ Digital Economy มานานแล้ว แต่จะไปได้ดีอีก ถ้าระบบราชการไม่รั้งไว้ ราชการไทยยังคงใช้ไอทีเพื่อให้กระบวนของรัฐเร็วขึ้น แต่ไม่ใช้ให้เกิดกระบวนการใหม่ ที่เป็นหัวใจของไอที รัฐฝังลึกกับระบบที่เคยทำมา และเชื่อว่าวันหน้าก็ต้องทำอย่างนั้นอีก แต่ด้วยอัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงที่ไอทีนำมา วิธีเก่าไม่เข้ากับเรื่องใหม่ที่ไอทีพามาด้วย  เราจึงใช้กุญแจคนละขนาดมาแก้ปัญหาเดียวกัน หนึ่งในการปฏิรูปที่ต้องทำก่อนคือ ให้รัฐเป็นดิจิทลรัฐ  ไม่ใช่ Digital Economy และสิ่งที่ต้องการคือผู้นำพาให้รัฐเป็นดิจิทัลรัฐ เช่น แต่งตั้ง CIO ประเทศที่ทันโลก มาปฏิรูประบบราชการทันที อย่าตั้งคณะกรรมการที่ใช้ผู้ใหญ่ระดับสูงที่มีภาระล้นตัวอยู่แล้วมาทำอีก เพราะท่านเหล่านั้นก็ต้องไปฟังผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายอีก ซึ่งจะช้าเช่นเคย ซ้ำท่านไม่มีเวลาไปคิดคำถามที่ช่วยให้งานเร็วขึ้นได้ เพราะท่านไม่มีโอกาสเห็นว่าอะไรกำลังผุดมาเรื่อยๆรอฟังความเห็นใหม่ๆครับ

ใส่ความเห็น